⛪ Home
กระทรวงสาธารณสุขใสสะอาด ร่วมต้านทุจริต (Together Against Corruption : TAC.) โดยใช้แนวทาง "พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา กตัญญู"

ชวนคุย ชวนดู "พระราชบัญญัติ วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561"


เริ่มต้น พรบ.นี้ มีผลบังคับใช้เมื่อไร .... ตาม มาตรา 2 ระบุไว้ว่า  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป” ซึ่ง พรบ.ฉบับนี้ประกาศเมื่อ  วันที่ 19 เมษายน 2561 นั่นคือ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 20 เมษายน 2561นี้เอง
ประเด็นที่น่าสนใจ และคิดว่าหน่วยงานระดับตำบล เช่น รพ.สต. ควรศึกษาไว้บ้าง ในที่นี้พอจะนำมาเสนอในส่วนที่คิดว่าน่าจะเกี่ยวข้อง พอคร่าว ๆ ดังนี้
เริ่มจาก หมวด 3 “วินัยการเงิน การคลัง” ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของ พรบ.นี้
ใน ส่วนที่ 1 กล่าวถึง “รายได้”   ดูที่  มาตรา 34 วรรคหนึ่ง  บรรดาเงินที่หน่วยงานของรัฐจัดเก็บหรือได้รับไว้เป็นกรรมสิทธิ์ ไม่ว่าจะได้รับ ตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับ หรือได้รับชำระตามอำนาจหน้าที่หรือสัญญา หรือได้รับจาก การให้ใช้ทรัพย์สินหรือเก็บดอกผลจากทรัพย์สินของราชการ ให้นำส่งคลังตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด เว้นแต่จะมีกฎหมายกำหนดเป็นอย่างอื่น
ในประเด็นนี้ ต้องรอดูว่าหน่วยงานระดับ รพ.สต.จะต้องดำเนินการหรือไม่อย่างไร  คงต้องรอดูระเบียบที่เกี่ยวข้องออกมาอีกครั้งหนึ่ง

ในส่วนที่ 2 กล่าวถึง “รายจ่าย” มีมาตราที่น่าสนใจคือ  มาตรา 37,38 ,43
มาตรา 37 วรรคที่สอง กล่าวถึง ความโปร่งใส คุ้มค่า และประหยัด “การก่อหนี้ผูกพันและการใช้จ่ายเงินของหน่วยงานของรัฐในการปฏิบัติหน้าที่หรือการดำเนินงาน ต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส คุ้มค่าและประหยัด โดยพิจารณาเป้าหมาย ประโยชน์ที่ได้รับ ผลสัมฤทธิ์ และ ประสิทธิภาพของหน่วยงานของรัฐและต้องเป็นไปตามรายการและวงเงินงบประมาณรายจ่ายของหน่วยงาน ของรัฐนั้นด้วย   มาครบเลย  ทั้งเป้าหมาย ประโยชน์ที่ได้รับ ผลสัมฤทธิ์ รวมถึงประสิทธิภาพ
มาตรา 38 “ให้ผู้มีอำนาจอนุมัติการจ่ายเงินมีหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของหน่วยงานของรัฐให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายหรือกฎ หรือตามที่ได้รับอนุญาตให้จ่าย  นั่นคือให้ผู้มีอำนาจอนุมัติจ่ายเงิน มีหน้าที่ตรวจสอบการจ่ายเงินด้วยนั่นเอง
มาตรา 43 การก่อหนี้ที่ผูกพันการใช้จ่ายเงินงบประมาณหรือเงินอื่นของหน่วยงานของรัฐ ต้องพิจารณาภาระทางการเงินที่เกิดขึ้นและข้อผูกพันในการชำระเงินตามสัญญา และประโยชน์ที่รัฐจะได้รับด้วยมาตรานี้ เข้าใจว่าน่าจะใช้เพื่อป้องกันการสร้างภาระหนี้สินของภาครัฐในอนาคต โดยกำหนดว่าต้องพิจารณาภาระทางการเงิน และประโยชน์ที่รัฐจะได้รับด้วย 

ส่วนที่ 3  “การจัดให้ได้ซึ่งมาทรัพย์สินและการบริหารทรัพย์สินของรัฐ”   มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ
มาตรา 46 เขียนไว้ว่า  การบริหารเงินคงคลังให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง โดยต้องรักษาไว้ในระดับที่จำเป็นเพื่อให้มีสภาพคล่องเพียงพอสำหรับการเบิกจ่ายเพื่อการดำเนินงานของ หน่วยงานของรัฐ โดยคำนึงถึงค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการบริหารสภาพคล่องด้วย  ในส่วนนี้ ยังไม่แน่ใจว่าจะเกี่ยวข้องลงมาถึงระดับ รพสต.หรือไม่
มาตรา 47 “นอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๔ แล้ว การบริหารจัดการเงินของหน่วยงานของรัฐหรือที่อยู่ในความครอบครองดูแลรักษาของหน่วยงานของรัฐ ต้องกระทำด้วยความระมัดระวังและ รอบคอบ โดยมีการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมด้วย  ในส่วนนี้ มองว่า น่าจะเป็นการให้มีการควบคุมภายใน โดยการบริหารความเสี่ยงอย่างเป็นระบบ
มาตรา 48  การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุของหน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐหรือตามกฎระเบียบ ของหน่วยงานของรัฐโดยเคร่งครัด โดยต้องดำเนินการด้วยความสุจริต คุ้มค่า โปร่งใส มีประสิทธิภาพและ ประสิทธิผล และตรวจสอบได้ในมาตรานี้เขียนไว้ให้สอดคล้องกับกฎหมายฉบับที่กล่าวถึง

ส่วนที่ 5 กล่าวถึง "เงินนอกงบประมาณ ฯ "
มาตรา 61  ในวรรคแรก เขียนไว้ว่า เงินนอกงบประมาณให้มีเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ หรือ การดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของการมีเงินนอกงบประมาณนั้น ทั้งนี้ ให้นำความในมาตรา 37วรรคสอง มาใช้บังคับกับการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณด้วยโดยอนุโลม  ในประเด็นที่เขียนว่า “ให้มีเท่าที่จำเป็นนี้” อาจต้องมีการขยายความเพิ่มเติมกันอีก สมมติว่า หากมีผลถึงหน่วยงานระดับ รพสต. จะมีผลเป็นอย่างไรบ้าง
วรรคสอง เขียนว่า “เงินนอกงบประมาณของหน่วยงานของรัฐ ให้นำมาฝากไว้ที่กระทรวงการคลัง เว้นแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นหรือได้ทำความตกลงกับกระทรวงการคลังเป็นอย่างอื่น” ถ้าอ่านกันตามอักษร ความหมายคือ ต้องนำเงินนอกงบประมาณไปฝากไว้ที่กระทรวงการคลังครับ แต่ก้อยังไม่ทราบวงเงินระดับไหนที่ต้องนำฝาก  คงต้องรอดูว่าจะมีการทำความตกลงเป็นอย่างไว้ไว้หรือไม่ และหน่วยงานระดับ รพ.สต. ต้องดำเนินการอย่างไรหรือไม่ ดูต่อวรรคถัดไป
วรรคที่สาม “เว้นแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น เงินนอกงบประมาณนั้นเมื่อได้ใช้จ่ายในการปฏิบัติ หน้าที่หรือการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์จนบรรลุวัตถุประสงค์แห่งการนั้นแล้ว มีเงินคงเหลือให้นำส่งคลังโดยมิชักช้า ทั้งนี้ การนำเงินส่งคลังให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี 
มาตรา 62 มาตรานี้ เขียนให้อำนาจกับกระทรวงการคลัง โดยระบุว่า “ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณหรือมีเงินนอกงบประมาณมากเกินสมควร ให้กระทรวงการคลัง เรียกให้หน่วยงานของรัฐนำเงินดังกล่าวส่งคลัง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี  ในกรณีนี้ ก้อต้องรอติดตามกันต่อไป ว่าหน่วยงานของ รพ.สต. จะเข้าข่ายนี้ด้วยหรือไม่

          ต่อกันที่ หมวด 4 “การบัญชี การรายงาน และการตรวจสอบ
            มาตรา 68  วรรคแรก “ให้กระทรวงการคลังกำหนดมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบายการบัญชีภาครัฐ
    วรรคที่สอง ให้หน่วยงานของรัฐที่มิใช่รัฐวิสาหกิจและทุนหมุนเวียนจัดทำบัญชีและรายงานการเงินตามมาตรฐาน การบัญชีภาครัฐและนโยบายการบัญชีภาครัฐตามวรรคหนึ่ง” คงต้องรอดูว่าจะมีการปรับระบบบัญชีหรือไม่อย่างไรบ้าง
มาตรา 69  มาตรานี้ น่าสนใจ เขียนไว้ว่า “ให้หน่วยงานของรัฐจัดให้มีผู้ทำบัญชีตามหลักเกณฑ์และคุณสมบัติ ที่กระทรวงการคลังกำหนด เพื่อจัดทำบัญชีและรายงานการเงินตามพระราชบัญญัตินี้” คราวนี้ละครับ คงจะมีพนักงานการเงินฯ อยู่ตาม รพ.สต.กันบ้าง
มาตรา 70  มาตรานี้ กำหนดหน้าที่ประจำปีไว้ชัดเจน วรรคแรก  ให้หน่วยงานของรัฐจัดทำรายงานการเงินประจำปีงบประมาณซึ่งอย่างน้อย ต้องประกอบด้วยงบแสดงฐานะการเงินและงบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงินทั้งเงินงบประมาณ เงินนอก งบประมาณ และเงินอื่นใด รวมถึงการก่อหนี้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด  จะเห็นได้ว่า เจตนาคือให้ทุกหน่วยงานจัดทำรายงานประจำปีนั่นเอง
วรรคที่สาม “ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณหรือตามที่ได้ตกลงกับกระทรวงการคลังตามวรรคสอง ให้หน่วยงานของรัฐนำส่งรายงานตามวรรคหนึ่งให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อตรวจสอบ และนำส่ง กระทรวงการคลังด้วย  หมายความว่าต้องส่งรายงานการเงินประจำปี ภายในไม่เกินเดือนธันวาคม ของปีนั้นๆ ให้กับ “สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ซึ่งในส่วน มาตรา 70 นี้ ก้อต้องตามดูกันต่อไป ว่า หน่วยงาน รพสต. ต้องดำเนินการหรือไม่เช่นกัน
            ปิดท้ายที่ มาตรา 79 กล่าวถึงการให้มีการตรวจสอบภายใน การควบคุมภายใน  ให้หน่วยงานของรัฐจัดให้มีการตรวจสอบภายใน การควบคุมภายในและ การบริหารจัดการความเสี่ยงโดยให้ถือปฏิบัติตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด” มาครบเครื่องเลยสำหรับมาตรานี้ ทั้งการตรวจสอบภายใน การควบคุมภายใน ซึ่ง รพสต.ก้อถือปฏิบัติกันอยู่แล้ว 
            พอจะได้สาระกันบ้างไม่มากก้อน้อยตามสมควร ในบางมาตราอาจไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานระดับ รพสต. แต่ก้อควรศึกษาดูกันไว้  จะได้เตรียมตัวปฏิบัติกันถูกตามที่กฎหมายระบุ ขอบคุณที่ติดตามอ่าน หากประเด็นไหนไม่ถูกต้อง ก้อช่วยแนะนำ จะได้ปรับปรุงแก้ไขครับ 
By Admin.



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โปรดใช้คำสุภาพ ข้อความสุภาพ